สาระน่า่รู้ เกี่ยวกับบ้าน รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น  
   
   
   
   
 
 
 
 
 
 
   
 
 
 
แนวทางการก่อสร้างอาคารป้องกันแผ่นดินไหว
SAHASUTHA : รับสร้างบ้าน, แบบบ้านสองชั้น
     ประเทศไทยนั้นมีรอยเลื่อนที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศ อย่างไรก็ตามการที่จะเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนในประเทศไทยยังไม่รุนแรงนัก จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่ผ่านมาเกือบ 40 ปีเรามีแผ่นดินไหวขนาดกลาง (5.0-5.9 ตามมาตราริกเตอร์) เกิดขึ้น 8 ครั้ง หรือเฉลี่ย 1 ครั้งในรอบ 5 ปี โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบ้านเราส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 6.0 ตามมาตราริกเตอร์ นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล จากรอยเลื่อนบริเวณประเทศอินโดนีเซีย และพม่า ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดมากกว่า 6.0 ตามมาตราริกเตอร์ แม้ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวระยะไกล แต่เนื่องจากกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนจึงสามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้น จนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างได้
     จากการสำรวจทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเมื่อปี 2548 ของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า มี 4 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสียงภัยมากที่สุด คือกาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงราย เพราะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและจังหวัดที่มีความเสี่ยงรองลงมาคือจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ เชียงใหม่ ลำพูด พะเยา น่าน ลำปาง และกรุงเทพมหานคร ส่วนภาคที่มีความมากปลอดภัยที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตารางสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทย
ตารางสถิติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ
แผนที่รอยเลื่อนที่มีพลังงานในประเทศไทย
แผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย
     จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 นั้นมีศูนย์กลางการเกิดที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้มาจากรอยเลื่อน พะเยา ที่พาดผ่านอำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร เหตุการณ์แผ่นดินไหวมีศูนย์กลางการเกิดในประเทศไทยครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบ 40 ปี
     เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่ออาคาร บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นอย่างมาก มีสาเหตุหลักจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ผู้สร้างขาดความเข้าใจในการก่อสร้างบ้าน สร้างบ้านจากการลอกเลียนแบบบ้านข้างเคียงตามๆกัน เน้นที่ราคาถูกเป็นหลัก เป็นสาเหตุที่ทำให้เมื่อเกิดการแผ่นดินไหว อาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างในลักษณะดังกล่าวเกิดการทรุดตัวแตกร้าวและพังทลายเสียหายในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ รองเลขาธิการ วสท.และอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มีการแนะนำแนวทางการการก่อสร้างบ้านในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหว เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ทางบริษัท ท็อป เอสที บิวเดอร์ จำกัด จึงได้นำข้อแนะนำดังกล่าวมาปรับใช้ดังนี้
     1) วัสดุก่อสร้างต้องได้มาตรฐาน คอนกรีตต้องมีกำลังอัดประลัยไม่น้อยกว่า 240 กก.ต่อตร.ซม.(240 ksc) เหล็กเส้นต้องเป็นเหล็กได้มาตรฐาน มีการรับรองจาก มอก.
     2) บ้านพักอาศัยที่มีความสูง 2-3 ชั้น ควรมีขนาดหน้าตัดเสาไม่น้อยกว่า 20-25 ซม. เสาที่มีขนาดใหญ่ยิ่งต้านแผ่นดินไหวได้ดี เพราะเสาเป็นโครงสร้างหลักที่ต้องต้านแผ่นดินไหว หากเสาเล็กเกินไป อาจทำให้โครงสร้างอาคารไม่แข็งแรงและพังถล่มได้โดยง่าย
     3)เหล็กเส้นในเสาต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 เส้น แต่ละเส้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 12 มม.  
     4) เสาทุกต้นต้องเสริมเหล็กปลอก โดยเหล็กปลอกต้องพันเป็นวงรอบเหล็กแกน เหล็กปลอกที่ใช้ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. บริเวณที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ โคนเสาและหัวเสา การเสริมเหล็กปลอกในเสาจึงแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
     4.1 บริเวณโคนเสาและหัวเสา วัดจากคาน หรือพื้นออกมาเป็นระยะ 50 ซม. เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงหรือระยะระหว่างเหล็กปลอก ไม่เกินครึ่งหนึ่งของขนาดเสา
     4.2 บริเวณกลางความสูงเสาให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงไม่เกินด้านแคบของขนาดเสา ยกตัวอย่าง เสาหน้าตัด 20x20 ซม. ต้องเสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. มีระยะเรียงไม่เกินครึ่งหนึ่งของขนาดเสาซึ่งเท่ากับ 10 ซม. ในช่วงระยะ 50 ซม.จากคานหรือพื้น ทั้งโคนเสาและหัวเสา ส่วนบริเวณกลางความสูงเสาให้เสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม.มีระยะเรียงไม่เกินความกว้างเสาซึ่งเท่ากับ 20 ซม.
ตัวอย่างขนาดเสาและการเสริมเหล็กปลอกของเสาของบ้านพักอาัศัย 2-3 ชั้น
ตัวอย่างการเสริมเหล็กปลอกในเสาขนาด 20 x 20 ซม.
     5) ข้อต่อหรือบริเวณที่คานเสามาบรรจบกันภายในเสาจะต้องเสริมเหล็กปลอกเสมอ โดยใช้เหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. มีระยะเรียงเหล็กปลอกไม่เกินด้านแคบของเสา เช่น เสาขนาด 30 x 20 ซม. ระยะเรียงของเหล็กปลอกในข้อต่อต้องไม่เกินด้านแคบของเสา หรือเท่ากับ 20 ซม.
ตัวอย่างการเสริมเหล็กปลอกบริเวณข้อต่อระหว่างเสา - คาน (1)
ตัวอย่างการเสริมเหล็กปลอกบริเวณข้อต่อระหว่างเสา - คาน (2)
     เนื่องจากจุดต่อของโครงสร้าง (เสา-คาน , เสา-พื้น , คาน – พื้น) มักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยครั้งของการวิบัติในอาคารจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดังนั้นการเสริมความแข็งแรงให้กับจุดต่อ โดยการหล่อครีบคอนกรีตเสริมเหล็กที่โคนเสาดังรูปด้านล่าง วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในอาคารที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว และต้องการเสริมความแข็งแรงในภายหลัง
     วิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดอยู่ที่ความสวยงามและพื้นที่ใช้สอย เพราะหากเสริมค้ำครีบคอนกรีตบริเวณที่เป็นแผงโล่ง (ไม่มีผนัง) ก็จะทำให้เห็นครีบคอนกรีตโผล่ขึ้นมาจากพื้น และอาจจะกีดขวางทางเดินภายในบ้านอีก ในทางกลับกันหากครีบคอนกรีตอยู่ในแนวผนังบ้าน ครีบคอนกรีตจะซ่อนอยู่ในผนังไม่กีดขวางทางเดิน และไม่มีผลกระทบต่อความสวยงามและพื้นที่ใช้สอยแต่อย่างใด แต่มีข้อแม้ว่าครีบจะต้องไม่หนาเกินไปกว่าความหนาของผนังบ้าน
ภาพการเสริมความแข็งแรงของจุดต่อเสา-คาน
     6) คานมีลักษณะการเสริมเหล็กปลอกคล้ายกับเสา โดยมีจุดสำคัญคือบริเวณปลายคานทั้งสองด้าน ดังนั้นการเสริมเหล็กปลอกในคานจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
          6.1 บริเวณปลายคานวัดออกมาจากเสาเท่ากับสองเท่าของความลึกคาน ให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะ เรียงไม่เกิน หนึ่งในสี่ของความลึกคาน
          6.2 บริเวณกลางคานให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงไม่เกิน ครึ่งหนึ่งของความลึกคาน
ยกตัวอย่าง คานหน้าตัด 20 x 40 ซม. กล่าวคือ คานมีความลึกเท่ากับ 40 ซม. ต้องเสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. มีระยะเรียงไม่เกินหนึ่งในสี่ของความลึกคานซึ่งเท่ากับ 10 ซม. ที่บริเวณขอบเสาวัดออกมาสองเท่าความลึกคาน หรือเท่ากับ 80 ซม. บริเวณตรงกลางคานใช้เหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. มีระยะเรียงไม่เกินครึ่งหนึ่งของความลึกคานหรือเท่ากับ 20 ซม.
ตัวอย่างการเสริมเหล็กปลอกในคาน
     จากข้อแนะนำทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นการเสริมกำลังในส่วนของโครงสร้างหลักเท่านั้น เช่น เสา คาน แต่ไม่ได้รวมถึงงานทางสถาปัตยกรรม เช่น กำแพง ฝ้า ประตู วงกบ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์บิวด์อินต่างๆ เพราะหลักของอาคารต้านแผ่นดินไหวคือการที่อาคารไม่เกิดการวิบัติขณะแผ่นดินไหว หรืออย่างน้อยก็ยื้อเวลาให้ผู้อยู่อาศัยออกมาจากอาคารได้ทัน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
การสัมมนาเรื่อง แผ่นดินไหวภัยใกล้ตัว โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ
http://www.trf.co.th
http://www.vcharkarn.com



รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น
โทร 0-2542-2955-6, 0-2542-2691-2, 0-2542-2244
E-mail. info@sahasutha.com
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน   บ.อะไลฟ์เฮ้าส์ จำกัด  STBUILDER
Copyright ? 2004 SAHASUTHA CO.,LTD. All right reserved.
WEB SITE by  www.eTradeForce.com

บริษัท สหสุธา เรารับสร้างบ้านใส่ใจทุกรายละเอียด

รับสร้างบ้าน | แบบบ้านสองชั้น