สาระน่า่รู้ เกี่ยวกับบ้าน รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น  
   
   
   
   
 
 
 
 
 
 
   
 
 
 
บัญญัติ ๒๒ ประการ “บ้านหลังน้ำท่วม” โดย อ.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ (3)
SAHASUTHA : รับสร้างบ้าน, แบบบ้านสองชั้น
11. ผนังบ้านแช่น้ำนานๆ เป็นอะไรมั๊ย จะแก้ไขดูแลอย่างไร

วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเกือบทุกอย่าง หากแม้โดนแช่น้ำไว้นานๆ ย่อมต้องมีอาการเสื่อมสภาพไปมากบ้าง น้อยบ้าง ตอบคำถามที่ว่าผนังและสีทาบ้านที่ถูกน้ำท่วมแล้วเป็นอะไรหรือไม่ คงตอบว่า "เป็นอะไรแน่นอน" ขอให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
1.
หากผนังทำด้วยไม้ ไม่ต้องทำอะไรมากปล่อยให้แห้งก็เพียงพอแล้ว ยกเว้นแต่ส่วนที่อยู่ในระยะระดับที่น้ำขึ้นลงอาจจะผุไปบ้าง (ธรรมชาติของไม้หากอยู่แห้งๆก็ไม่เป็นไร หากอยู่ใต้น้ำเลยก็ไม่ค่อยเป็นไร แต่หากอยู่บริเวณระดับที่เดี๋ยวน้ำขึ้น เดี๋ยวน้ำลง จะมีปัญหาเรื่องการผุกร่อนได้ง่าย ดูได้ตามเสาโป๊ะ หรือเสาที่ปักไว้ในน้ำ จะเห็นได้ว่าส่วนที่จะผุกร่อนก่อนที่สุดคือ บริเวณระดับผิวน้ำที่เดี๋ยวแห้ง เดี๋ยวเปียก)

เมื่อน้ำในบ้านลดลง เอาผ้าเช็ดทำความสะอาดขจัดคราบความสกปรกออกเพื่อสุขภาพของคนในบ้าน และเพื่อให้ผิวที่ทำความสะอาดแล้วสามารถระเหยความชื้นออกมาได้ง่าย ทิ้งไว้จนแน่ใจว่าผนังของเราแห้งดี จึงใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ชโลมลงที่ผิว (อย่าทาแลคเกอร์หรือน้ำยารักษาเนื้อไม้หรือสีทาผนังก่อนที่จะให้ตัวผนังแห้ง เพราะจะทำให้น้ำและความชื้นระเหยไม่ออก จะเกิดอาการ "ชื้นและผุฝังใน")

การทาสีหรือทายารักษาเนื้อไม้ อาจจะทาเฉพาะด้านในตัวบ้านก่อนก็ได้ แล้วทิ้งไว้สักหลายเดือน จึงค่อยทาสีภายนอกตัวอาคาร เพื่อให้มั่นใจจริงๆว่าผนังของเราแห้งสนิทแล้ว

(อย่าอายใคร หากบ้านเรา จะไม่สวยสัก 5-6 เดือน เพราะเรื่องน้ำท่วมนี้ ไม่ใช่ความผิดของเรา… เราเป็นเพียง ผู้รับกรรมเท่านั้น)
2.
หากผนังของท่านเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ก็ดำเนินการในระบบที่คล้ายกับผนังไม้ ตามที่กล่าวแต่แรก แต่อาจจะต้องทิ้งเวลานานหน่อย เพราะการระบายความชื้นของผนังก่ออิฐนั้นยากกว่าผนังไม้

มีสิ่งหนึ่งที่ ผนังไม้อาจแตกต่างกับผนังก่ออิฐก็คือ "สิ่งที่อยู่ภายในผนัง" ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า ท่อไฟฟ้า ท่อน้ำ ฯลฯ เราต้องตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้ด้วยว่าอยู่ในสภาพเหมือนเดิม (รายละเอียดการดูแลตรวจสอบกรุณาอ่านในข้อ การตรวจสอบระบบไฟฟ้า และระบบสุขาภิบาล) การให้ความชื้นระเหยออกง่าย ต้องพยายามไม่เอาสิ่งของหรือตู้ โต๊ะ ตั้งติดไว้ที่ผนัง (ขอให้ทนความไม่สะดวกสบายสักพักเถอะครับ)

แต่ก็กรุณาอย่าถึงกับเอาไฟฟู่มาเผาให้ผนังแห้งเร็ว เดี๋ยวกลายเป็นหนีน้ำท่วมไปปะไฟไหม้จะไม่คุ้มกัน บางคนอาจจะเอาไฟสปอตไลท์มาส่องให้ความร้อน ผนังจะได้ระเหยเอาความชื้นออกมาเร็วๆ ก็ไม่ค่อยคุ้มเท่าไร เพราะจะเสียค่ากระแสไฟฟ้าจำนวนไม่น้อย (เก็บเงินค่าไฟฟ้าส่วนนี้ ไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมส่วนอื่นจะดีกว่ากระมังครับ)
3.
หากผนังของท่านทำด้วยยิบซั่มบอร์ด จะต้องเข้าใจในพื้นฐานและธรรมชาติของแผ่นยิบซั่มบอร์ด เสียก่อนว่า เจ้าแผ่นนี้เป็นเพียงผงปูนยิบซั่มที่หุ้มด้วยกระดาษอย่างดี แต่ไม่ว่ากระดาษจะดีเพียงไร หากถูกน้ำท่วมสักพักเดียวรับรองว่าแอ่นยุ่ยกันเป็นแถว

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ เลาะเอาแผ่นยิบซั่มนี้ออกจากตัวโครงเคร่าผนัง หากเป็นโครงเคร่าที่ทำด้วยโลหะ ก็สามารถติดแผ่นใหม่เข้าแทนที่ได้เลย แต่หากโครงเคร่าเป็นไม้คงต้องทิ้งไว้สักหลายวัน ให้ความชื้นในโครงไม้นั้นระเหยออกเสียก่อน จึงค่อยบุแผ่นใหม่เข้าแทนที่
4.
ผนังที่ทำด้วยโลหะ หรือผนังที่ทำด้วยกระจก ยามน้ำท่วมคงจะไม่เป็นอะไรมาก แต่เมื่อน้ำลดแล้ว น่าจะต้องตรวจสอบตามซอกตามรอยต่อ ว่ายังมีน้ำหรือเศษขี้ผงฝังในอยู่หรือไม่ หากมีก็ทำความสะอาดเสีย (สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับผนังหรือโครงอลูมิเนียมก็คือ น้ำอาจขังในท่อของอลูมิเนียมครับ)
5.
ผนังชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นผนังกระดาษอัด ผนังสังกะสี ผนังไม้อัด ฯลฯ จะมีธรรมชาติคล้ายกับผนังทั้งสี่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ลองเปรียบเทียบดูแล้วแก้ไขตามแนวทางนั้นๆ ขอให้โชคดีขอรับ
12. สีทาบ้าน ทั้งสีน้ำ สีพลาสติก สีน้ำมัน ฯลฯ ต้องทำอะไรบ้าง

เรื่องขอการแก้ไขเกี่ยวกับสีทาบ้าน ขอให้เป็นสิ่งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่เราจะซ่อมแซมบ้าน กรุณาอย่าอายใครที่เขาจะมาหาว่า บ้านเราสีกระดำกระด่างหรือสีลอกเป็นขี้กลาก ปล่อยคนที่เขาดูถูกเราไปเถอะ เพราะเรื่องน้ำท่วมมิใช่กรรมของเราที่ก่อขึ้นมา (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทางตรง) เขาจะว่าอะไรจะดูถูกอย่างไรก็ปล่อยเขาไป (แล้วทำบุญกรวดน้ำให้เขา ลดอวิชชาที่ครอบงำจิตใจเขาด้วย)

สีทุกชนิดที่เราใช้ทาบ้าน (ไม่รวมสีทาเรือ สีทาเครื่องบิน สีทาภายในถังน้ำ) เมื่อถูกความชื้นหนักๆ อย่างน้ำท่วมคราวนี้ จะต้องมีอันเป็นไปเกือบทุกที่ …

ข้อคิดสำคัญในเรื่องของสีทาบ้านก็คือ ปัญหาของสีลอกสีล่อนหลักๆ ไม่เกิดเพราะคุณภาพของสี แต่เกิดจากความไม่พร้อมของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิวที่จะทาสีเกิดความชื้นหรือมีสิ่งสกปรกติดอยู่ ทาสีทับลงไปอย่างไร ก็ลอกก็ล่อนออกหมด

ดังนั้นขอให้ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งทาสี ทำความสะอาดหรือลอกสีเดิมออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ลอกเฉพาะตรงที่มีปัญหา ไม่ใช่ลอกหมดทั้งบ้าน) ทิ้งไว้นาน ๆ (อาจจะหลายเดือนจนถึงหน้าแล้ง ฤดูร้อนก็นับว่าไม่สายเกินไป)
13. เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จมน้ำหมดเลย ทำไงดี

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ หรือเครื่องกลต่าง ๆ (อาจจะรวมได้ไปจนถึง รถยนต์ด้วยก็ได้) ล้วนแต่เป็นเครื่องจักรกลที่อย่างเราอย่างท่านไม่น่าประมาท หรือรู้มากเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมเอง ขอความกรุณาอย่าเพิ่งใช้ความสามารถส่วนบุคคล (หากไม่จำเป็นจริงๆๆๆๆ)

หากโดนน้ำท่วมแล้วน้ำเจ้ากรรมไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว (แถมยังแช่ไว้ด้วย) ถอดออกไปให้ช่างผู้รู้เขาตรวจสอบดูก่อนดีกว่า กรุณาอย่าประมาทเอาไปตากแดดแล้วคิดว่าแห้งแล้วเลยนำไปใช้ต่อ เพราะความชื้นบางส่วนอาจจะฝังอยู่ข้างใน พอเครื่องกลนั้นทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้า อาจทำให้เกิดปัญหากับตัวบ้านหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากความชื้นที่ฝังอยู่ในตัวเครื่องแล้ว บรรดาฝุ่นผง เศษขยะ หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตบางประเภท ก็อาจจะฝังตัวหรือแอบซ่อนตัว (หรือเสียชีวิต) ค้างอยู่ภายในเครื่องด้วย หากเดินเครื่องจักรกลหมุนอาจจะเกิดการติดขัดและมีการฝืนกำลังกัน เครื่องอาจจะเสียหรือไฟไหม้ได้ (อาจจะไม่ได้เกิดโดยทันที แต่จะเกิดขึ้นภายหลังได้)

หากแม้นจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้เครื่องจักรกลนั้น (ซึ่งผมหวังว่าคงจะไม่มี) ยามจะใช้เครื่องกลเหล่านั้นน่ามีข้อคิด 3 ประการคือ
1.
ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีผู้ใหญ่ที่พอรู้เรื่องไฟฟ้าและเครื่องจักกลพื้นฐานอยู่ใกล้ๆเสมอ และอย่างน้อยน่าจะมี ๒ คนครับ เมื่อเกิดอะไรผิดปกติขึ้นมาต้องดับเครื่องปิดเครื่องโดยทันที
2.
ที่คัทเอ๊าท์ไฟฟ้าของตัวเครื่อง และคัทเอ๊าท์หลักของตัวบ้าน จะต้องมีฟิวส์ตัดไฟที่มีคุณภาพ ติดตั้งอยู่เสมอ เกิดไฟฟ้าลัดวงจรต้องแน่ใจว่าวงจรไฟฟ้าจะถูกตัดออก
3.
เมื่อไรไม่จำเป็นจริงๆแล้ว ให้หยุดใช้เครื่องกลตัวนั้นทันที พอมีเวลาบ้าง และพอมีงบประมาณ กรุณานำไปให้ช่างผู้รู้ตรวจสอบ
14. ประตูบ้านถูกน้ำท่วมบวมอลึ่งฉึ่ง ประตูเหล็กขึ้นสนิมหมดแล้ว

ขอให้คิดว่าประตูหน้าต่างเวลาถูกน้ำท่วม จะเหมือนกับผนังที่ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน การที่ประตูไม้บวมเป่งขึ้นมาก็เหมือนกับผนังไม้ หรือผนังยิปซั่มที่ปูดโปนขึ้น ส่วนประตูเหล็กที่ขึ้นสนิมนั้นก็เป็นเรื่องของโลหะที่แช่น้ำ เมื่อแห้งแล้วก็ต้องเป็นสนิมไปเป็นปกติธรรมดา แนวทางแก้ไขมีดังต่อไปนี้
1.
ประตูไม้ หรือวัสดุที่เหมือนกับไม้ที่บวมขึ้นมาหรือผุพัง ก็เหมือนกับประตูห้องน้ำเราที่หลายๆบ้านเป็นอันเกิดจากความชื้นในห้องน้ำ แก้ไขโดยการทิ้งไว้ให้แห้ง ซ่อมแซมพื้นผิวเท่าที่ตนเองจะทำได้ หรือหากหมดสภาพจริงๆ และพอมีงบประมาณบ้างก็ซื้อใหม่เปลี่ยนแปลงเสียเลยก็ยังพอไหว
2.
ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิม อาจจะไม่ถึงผุพัง (ยกเว้นแต่ผุมาก่อน) ก็จัดการขัดสนิมออก เช็ดให้สะอาด แห้ง แล้วจึงทาสีใหม่ทับลงไป ก็ถือได้ว่าเป็นอันเสร็จพิธี แต่ความน่าสนใจก็คือ ขอให้มั่นใจว่าน้ำหรือความชื้น ได้ออกไปหมดแล้ว ทั้งในท่อโครงเหล็กหรือบริเวณรอยต่อต่างๆ
3.
ประตูพลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะวัสดุเหล่านั้นทนน้ำได้ แต่ที่ต้องตรวจสอบก็คือ อาจจะมีน้ำขังอยู่ภายในบานประตู(หรือหน้าต่าง) ระหว่างแผ่นสังเคราะห์ที่ประกบกันเป็นตัวบาน ต้องพยายามเอาน้ำออกให้หมด อาจจะต้องมีการเจาะรูเล็กๆสัก ๑-๒ รู เพื่อให้น้ำระบายออกได้
4.
หากประตูเกิดเอียงหรืออาการที่ภาษาช่างเรียกว่า "ประตูตก" อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อประตูหน้าต่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำด้วยไม้ หรือวัสดุที่อมน้ำ) แช่น้ำนานๆ ประตูจะอมน้ำ จึงทำให้ตัวบานนั้นน้ำหนักมากขึ้น บานพับรับน้ำหนักไม่ไหว ประกอบกับตัววงกบ (โครงกรอบช่วงเปิด) เปื่อยยุ่ย เนื่องจากการแช่น้ำ น๊อตหรือตะปูยึดเกาะได้ไม่เต็มที่ บานเลยเกิดอาการเอียงลง…
แก้ไขโดยพยายามใช้ค้ำยันหรือลิ่มเล็กๆ สอดช่วยรับแรง ถ่ายน้ำหนักของบานเอาไว้ก่อน ค่อย ๆ รอจนความชื้นระเหยออกน๊อตตะปูก็จะยึดติดดีขึ้น น้ำหนักบานก็จะน้อยลงอาการก็จะกลับมาเหมือน เกือบปกติ (อาจจะไม่ปกตินัก แต่ก็นับว่าไม่เป็นไร)
15. บานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด หลังน้ำท่วมต้องทำอะไรบ้างดี

เป็นคำถามที่ต่อเนื่องจากปัญหาที่แล้ว ซึ่งว่าด้วยเรื่องประตูหน้าต่างที่เกิดปัญหาขึ้นหลังน้ำท่วม บานพับ ลูกบิด กุญแจ เหล็กดัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยโลหะก็เกิดปัญหาตามมา ขอตอบสั้นๆ ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1.
เช็ดน้ำและพยายามให้ความชื้นระเหยออกให้หมด หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
2.
หากเกิดสนิมตรงที่ใด ก็ขัดเอาสนิมเหล่านั้นออกเสียโดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ แต่ก็อย่าขัดแรงด้วยเครื่องมือขัดที่คมแข็งเกินไป เพราะอาจทำให้อุปกรณ์ประตูหน้าต่างที่ค่อนข้างบอบบางนั้นเสียหายได้ครับ
3.
ใช้น้ำยาหล่อลื่นสารพัดประโยชน์หยอดชโลม (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "โซเล็กซ์") ตามจุดต่อ ตามข้อต่อ ตามเฟือง และตามรูต่างๆ ให้ทั่ว (คงไม่ถึงขนาดเป็นมันเยิ้มๆ จะทำให้สิ่งของรอบข้างเลอะเทอะและเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์)
4.
อย่าเพิ่งใช้จารบี หรือสารจำพวกขี้ผึ้งอุดหรือทา เพราะความชื้นทั้งหลายอาจจะยังระเหยออกไม่หมด จะทำให้ระเหยออกได้ยากขึ้น ความชื้นเลยเกิดอาการ "ฝังใน" จะมีปัญหาภายหลัง
5.
หากยังเกิดปัญหาอีก กรุณาเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อนี้ รับรองว่ากว่า 90 % ปัญหาจะไม่หนี ไปนอกรอบที่กล่าวไว้
16. น้ำท่วมฝ้าเพดาน แก้ไขอย่างไรได้บ้าง

ผมเชื่อว่าซีเรียสและเป็นเรื่องจริงครับ แต่ขอภาวนาให้เป็นการท่วมฝ้าเพดานของห้องใต้ดินไม่ใช่ฝ้าเพดานของบ้านชั้นที่สองนะครับ น้ำท่วมฝ้าเพดานนี้คงจะต้องใช้แนวทางแก้ไขคล้ายกับน้ำท่วมพื้นและท่วมผนังปนกัน สรุปความอีกครั้งได้ว่า
1.
ตรวจสอบถึงวัสดุฝ้าเพดานว่าทำด้วยอะไร หากเป็นวัสดุที่เปื่อยยุ่ยจากการถูกน้ำท่วมได้ เช่น ฝ้ายิปซั่มบอร์ดหรือฝ้ากระดาษอัด คงจะต้องเลาะออกแล้วเปลี่ยนใหม่ (หรือหากไม่มีงบประมาณก็ทิ้งเอาไว้โล่งๆ อย่างนั้นก่อน ไม่ต้องอายใคร ย้ำ ไม่ต้องอายใคร) หากเป็นฝ้าประเภทที่ไม่เปื่อยยุ่ยและอมน้ำหรือ อมความชื้นมากก็พยายามผึ่งให้แห้ง อย่าทาสีหรือน้ำยากันความชื้นระเหยออก หากเป็นฝ้าโลหะให้ตรวจสอบสนิมจัดการขัดหรือเช็ดออกให้หมด
2.
สำรวจฝ้าเพดานทั้งผืนทุกห้องทุกที่ว่ามีน้ำขังอยู่หรือไม่ (เจาะหรือเปิดฝ้าเพดานแล้วโผล่ศีรษะ พร้อมส่องไฟฉายตรวจดู) หากพบ ต้องระบายน้ำออกให้หมดโดยทันทีทันใด (เจาะรูตรงที่น้ำเป็นแอ่งขัง ณ จุดนั้นนั้น) อย่าขี้เกียจตรวจเช็คเป็นอันขาด
3.
ฝ้าเพดานส่วนใหญ่จะมีสายไฟดวงโคมติดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบเดินสายไฟฝังหรือสายไฟลอย ต้องตรวจสอบสภาพว่าดีสมบูรณ์ตามรายการ ที่เคยกล่าวไว้เรื่องของการตรวจสำรวจระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วม
4.
มดและแมลงตลอดจนหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ อาจหลบเข้าไปในฝ้าเพดาน (แล้วหาทางออกไม่ได้) ต้องทำการไล่ออกให้หมดจึงจะปิดฝ้าเพดาน ไม่เช่นนั้นอาจจะรบกวนและเป็นอันตรายภายหลังได้
<<< กลับไป ตอนที่ 2 อ่านต่อ ตอนที่ 4 >>>
สามารถดาวน์โหลดบัญญัติ 22 ประการ "บ้านหลังน้ำท่วม" ในรูปแบบ PDF ได้ ที่นี่



รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น
โทร 0-2542-2955-6, 0-2542-2691-2, 0-2542-2244
E-mail. info@sahasutha.com
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน   บ.อะไลฟ์เฮ้าส์ จำกัด  STBUILDER
Copyright ? 2004 SAHASUTHA CO.,LTD. All right reserved.
WEB SITE by  www.eTradeForce.com

บริษัท สหสุธา เรารับสร้างบ้านใส่ใจทุกรายละเอียด

รับสร้างบ้าน | แบบบ้านสองชั้น