สาระน่า่รู้ เกี่ยวกับบ้าน รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น  
   
   
   
   
 
 
 
 
 
 
   
 
 
 
บัญญัติ ๒๒ ประการ “บ้านหลังน้ำท่วม” โดย อ.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ (1)
SAHASUTHA : รับสร้างบ้าน, แบบบ้านสองชั้น
บัญญัติ ๒๒ ประการ "บ้านหลังน้ำท่วม"
flood01

ผมเขียนหนังสือเรื่อง “บ้านหลังน้ำท่วม” เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี ๒๕๓๘ และมีการช่วยกันจัดพิมพ์กันไปหลายแสนเล่มแล้ว เพราะว่าเป็นหนังสือที่ประกาศชัดเจนว่า“ไม่มีลิขสิทธิ์” ใครอยากเอาไปทำอะไรก็ตามสบาย ยกเว้นแต่ “ห้ามนำไปจำหน่าย” เท่านั้น

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาทั้งหลายยังเป็นปัญหาเดิมๆอยู่ เมื่อมาถึงวันนี้ จึงขอยกบางหัวข้อที่เห็นว่าเหมาะกับเหตุการณ์น้ำท่วม ๒๕๕๔ มาจัดเรียงใหม่ เพื่อความกระชับและสามารถส่งกันทางอีเมล์ หรือลงใน website ต่างๆได้สะดวกขึ้น

เอกสารนี้ยังคงเป็นที่ “ไม่มีลิขสิทธิ์” เหมือนเดิมครับ ท่านใดจะเอาไปสื่อสารกันอย่างไรก็ตามสบายครับ ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องแจ้งให้ทราบ ไม่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาหรือชื่อผู้เขียนใดๆก็ได้ครับ เพราะเพียงท่านเริ่มเผยแพร่ “บุญ” ก็เกิดกับตัวท่านแล้วครับ
flood02
สังคมไทยจะต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ เพราะธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน การใช้เทคโนโลยีไปฝืนพลังแห่งธรรมชาติมากเกินไป การทำร้ายธรรมชาติ จะเกิดผลเช่นนี้เรื่อยไป
1.น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหาเริ่มต้นที่ไหนดี

ความทุกข์ยากลำบากฉากแรกเพิ่งกำลังจะผ่านไปหลังน้ำลด แต่ความทุกข์ใหม่กำลังเข้ามาแทนที่ เพราะสภาพของบ้านอันถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของเรา มีสภาพที่น่าอึดอัดน่าอันตรายและเป็นรอยแผลที่หลายคน อยากจะเมินหน้าหนี

หากคิดจะแก้ปัญหาบ้านหลังน้ำท่วม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าปัจจุบัน (แม้ไม่สามารถจะเปรียบเทียบเท่ากับอดีต) แนะนำในฐานะลูกหลาน พี่น้องว่าน่าจะเริ่มต้นดังนี้
1.
อย่าซีเรียสว่า ทำไมน้ำถึงท่วม ราชการหรือรัฐบาลไปอยู่ที่ไหน เพื่อนๆ ในถิ่นอื่นทำไมบ้านเขาน้ำไม่ท่วม ฯลฯ เพราะนั่นไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา "บ้านหลังน้ำท่วม" ที่เรากำลังจะคุยกันในบันทึกนี้
2.
ทำการตรวจสอบด้วยจิตอันนิ่งๆว่า บ้านเราเกิดปัญหาใดเพิ่มขึ้นบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนน้ำท่วม เช่นรั้วเอียง ปาเก้ล่อน แมลงสาบหายไปไหน ค่าไฟเพิ่ม ฯลฯ และทำบันทึกไว้เป็นข้อ ๆ ให้อ่านง่ายจดจำง่าย (ภาษาฝรั่ง เขาเรียกว่าทำ Check List)
3.
ถามตนเองว่าสภาพการเงินเราเป็นอย่างไร มีเงินจะใช้สำหรับการซ่อมแซมเท่าไร (รวมถึงการกู้ยืม แหล่งอื่น แต่ไม่รวมการโกงบ้านกินเมือง) จะได้วางแนวทางการจ่ายเงินอย่างมีขีดจำกัด และมีความเป็นไปได้
4.
เปิดบันทึกนี้อ่านให้จบ อย่าโกรธหากบางตอนของบันทึกนี้มีรูปตลกเกินไป หรือเขียนแบบสบายๆเกินไปบ้างในบางประโยคครับ
2.น้ำไม่ท่วมบ้าน แต่ท่วมถนนซอยหน้าบ้าน ต้องทำอะไรมั๊ยหนอ

น้ำไม่ท่วมตัวบ้านหรือแม้แต่บริเวณสนามหญ้าในบ้าน แต่ท่วมที่ถนนหน้าบ้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่น่าจะวางใจนัก เพราะส่วนที่บ้านเรากับทางสาธารณะ จะต้องเชื่อมประสานกันมากที่สุด และเรามักจะมองข้ามไปก็คือ "ท่อระบายน้ำ" ที่ถ่ายเทน้ำจากบ้านเราระบายออกสู่ท่อระบายน้ำของหลวง

ในยามที่น้ำท่วมทางสาธารณะ แน่นอนน้ำจะต้องท่วมท่อระบายน้ำของหลวงท่านด้วย น้ำในบ้านเราก็เลยไม่ระบายออก แถมในทางกลับกัน น้ำในท่อระบายน้ำสาธารณะอาจจะไหลกลับเข้าสู่บ้านเราได้

เมื่อมีการไหลกลับเช่นที่ว่า นอกจากจะพาเอาน้ำเข้ามาแล้วยังน่าจะพาเอาเศษดินโคลนต่างๆเข้ามาด้วย เมื่อน้ำค่อยๆลดลงเศษดินโคลนก็จะกองติดอยู่ในท่อระบายน้ำบ้านเรา ท่อระบายน้ำบ้านเราที่เล็กอยู่แล้วก็จะเกิดอาการอุดตัน หรือมีพื้นที่ว่างเหลือน้อยกว่าปกติ แนวทางในการแก้ไขและข้อควรจะระวังน่าจะมีดังต่อไปนี้
1.
หากเป็นท่อระบายน้ำระบบมีฝาเปิดตลอดแนว ก็เปิดฝาแล้วตักไอ้เจ้าดินโคลนเศษขยะนั้นออก
2.
หากเป็นท่อระบบไม่มีฝาเปิดตลอด ก็เอาไม้ยาวๆ ควานดู (แบบที่เขาขุดลอกท่อระบายน้ำของ กทม. นั่นแหละครับ) หากทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ทำไม่ไหว ขี้เกียจทำ ก็ไปจ้างคนอื่นเขาทำ แต่ขอร้องเถอะครับ อย่าเอาตัวมุดลงไปในท่อแล้วทำเอง เพราะอาจไม่ได้กลับออกมา
3.
อย่าพยายามใช้น้ำฉีด เพราะจะเปลืองน้ำมากและยังคงทำความสะอาดท่อลำบาก แถมยังทำบาปกับคนอื่นเขา เพราะเจ้าเศษโคลนทั้งหลายจะระบายลงสู่ท่อสาธารณะ ทำให้ท่อของหลวงท่านอุดตันตื้นเขิน …อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมบ้านท่วมเมืองเนื่องจากระบายน้ำไม่ได้อย่างที่น่าจะเป็น
4.
เมื่อทำการกวาดล้างเสร็จแล้ว ลองตรวจสอบอีกครั้ง ดูว่าระดับน้ำในท่อระบายน้ำเรานั้นไหลไปทางไหน ขอให้แน่ใจว่าจะไหลออกจากบ้านเราสู่ท่อสาธารณะ หากยังไหลกลับทางกัน กรุณากลับไปอ่านข้อที่หนึ่งใหม่
5.
หากหน้าบ้านท่านไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะ ก็ให้ตรวจสอบว่าน้ำไหลไปทางไหน ระบายออกทางไหน และให้ถือว่าจุดที่น้ำระบายออกจากบ้านเราเป็นทางสาธารณะไปก่อน (หวังว่าบ้านท่านคงจะไม่ระบายน้ำ สะเปะสะปะ ผิดกฎหมายนะครับ)
3.รั้วคอนกรีตที่แข็งแรงของผม ต้องตรวจดูอะไรหลังน้ำลดไหม

น้ำคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติ และธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์จะไปท้าทายแข่งขัน รั้วคอนกรีตของท่าน คงจะไม่สามารถฝืนกฎนี้ได้

ปัญหาที่อาจจะเกิดกับรั้วของท่านก็เป็นเรื่องจากยามน้ำท่วม ดินที่ฐานรั้วท่านอาจจะอ่อนตัวลง ความสามารถในการรับน้ำหนักอาจจะน้อยลง หรือระดับที่ดินในบ้านกับนอกบ้านท่านมีระดับแตกต่างกัน ยามเมื่อน้ำที่ท่วมลดลง อาจจะเกิดแรงดูดทำให้รั้วของท่านเอียงไปก็ได้ หรือในขณะที่น้ำท่วมรั้วของท่าน อาจต้องทำหน้าที่เป็น "เขื่อน" ที่ต้องรับน้ำหนักน้ำเป็นอย่างมาก ความสามารถในการรับน้ำหนักอาจ "คลาก" ความแข็งแรงลดลงไปได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจกรุณาตรวจสอบ และหาแนวทางแก้ไขดังนี้
1.
ใช้สายตาของท่านเล็งดูว่ารั้วของท่านยังตั้งฉากอยู่ดีหรือไม่ หากมีการเอียงเล็กน้อยก็เอาไม้ค้ำยันด้านที่เอียงออกเอาไว้ก่อน มีสตางค์เมื่อไรก็รีบซ่อมทันที
2.
หากตรวจสอบแล้วปรากฏว่ารั้วของท่านเอียงมาก เอียงจนแนวออกหรือจะออกนอกแนวศูนย์ถ่วง (C.G.) ต้องรีบซ่อมแซมทันที (โดยช่างก่อสร้างที่พอจะมีความรอบรู้) หากยังไม่มีงบประมาณ ก็ต้องค้ำยันไว้อย่างแน่นหนามากๆ เพราะน้ำหนักรั้วที่แข็งแรงของท่านนั้นหนักมาก (ไม่เชื่อลองไปนอนให้รั้วพังทับดูก็ได้ไม่ว่ากัน)
3.
หากรั้วของท่านมีคานคอดิน (คานตัวล่างสุดที่อยู่ใกล้ระดับดิน) รับน้ำหนักรั้วอยู่ พอน้ำลดลง น้ำอาจพาดิน ใต้คานคอดินของท่านออกไปด้วย ก็จะเกิดรูโพรงใต้คานรั้วของท่าน อันอาจเป็นเหตุให้สัตว์ต่าง ๆ เดิน - วิ่ง - มุด - เลื้อย เข้าไปในบ้าน ของท่านได้ หรือไม่ก็ทำให้ดินของท่านไหลออกจากบ้านสู่ทางสาธารณะไปเรื่อยๆภายหลัง (อันทำให้ดินของท่านหมดสนาม และถนนสาธารณะต้องสกปรก) ก็ขอให้เติมดินอัดกลับเข้าไปให้คงเดิม
4.
นอกจากจะตรวจดูที่รั้วบ้านแล้ว ท่านน่าจะต้องตรวจดูที่ประตูรั้วท่านด้วย เพราะประตูส่วนใหญ่ จะทำด้วยเหล็กหรือไม้ (พวกอัลลอยด์ไม่ค่อยเป็นอะไร ยกเว้นบริเวณบานพับหรือกลอนที่อาจจะทำด้วยเหล็ก) อาจมีอาการผุกร่อนได้ ทำให้บานประตูไม่สามารถปิดได้เหมือนเดิม หรืออาจจะหลุดออกมาทั้งบาน !!! ทำการผูกรัดให้แข็งแรงเสีย มีเงินเมื่อไรอย่าลืมควักออกมาซ่อมแซมก็แล้วกัน
4. ช่วยด้วย ต้นไม้บ้านหนู เขากำลังจะตายกันหมด

น้ำท่วมคราวนี้คร่าชีวิตต้นไม้ไปมากมาย ทั้งพืชทางเศรษฐกิจและพืชที่เราปลูกกันไว้ในบ้าน หากบ้านใดน้ำท่วมเป็นเวลานาน ต้นไม้ต้นหญ้าขนาดเล็กจะต้องตายหมดแน่นอน แนวทางการแก้ไขก็คือ ต้องเริ่มต้นปลูกกันใหม่ (ต้นไม้เขาตายไปแล้วเรามิใช่เทวดาที่จะเรียกให้เขาฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้) แต่ต้นไม้บางต้นที่ยังไม่ถึงที่แต่ก็กำลังจะถึงที่ตาย มีแนวทางที่เราจะช่วยเหลือเยียวยาเขาได้ ลองทำดังนี้ดูนะครับคุณหนู
1.
อย่าให้ปุ๋ยเด็ดขาด (ทั้งปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยธรรมชาติ หรือปุ๋ยนางงามจักรวาล) เพราะน้ำท่วมทำให้รากต้นไม้อ่อนแอ เขาต้องการเวลาพักฟื้นตัว ไม่ใช่ต้องการปุ๋ย (อย่างคนอาการโคม่า ย่อมไม่ต้องการรับประทานสเต๊กเนื้อสันฉันนั้น)
2.
ขุดหลุมเล็กขนาดลึกสัก 50 ซม. ถึง 1 เมตร ไว้ข้าง ๆ ต้นไม้นั้น เพื่อให้น้ำที่ขังอยู่บริเวณรากไม้ไหลลงสู่หลุมที่เราขุด เป็นการช่วยอาการรากสำลักน้ำได้ แล้วก็คอยเอาเครื่องดูดน้ำเล็ก ๆ (ภาษาชาวบ้านเรียกเจ้าเครื่องนี้ว่า ไดรโว่ ราคาประมาณ สองถึงสามพันบาท) คอยสูบน้ำออก แต่หากไม่มีกะตังจะซื้อเครื่องสูบน้ำนี้ ก็ต้องออกแรงขุดหลุมกว้างหน่อย (อย่ากว้างมากจนต้นไม้เขาล้ม) แล้วใช้ขันหรือถังค่อย ๆ เอื้อมมือตักน้ำออก
3.
หากเห็นว่ารากต้นไม้ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะยึดลำต้นเอาไว้ กรุณาอย่าอัดดินลงไปให้แน่นเป็นอันขาด ต้นไม้เขาจะรีบๆตายทันที ให้ใช้วิธีดามหรือค้ำยันลำต้นเอาไว้แทน รอจนรากเขาแข็งแรงเหมือนเดิม แล้วจึงเอาไม้ดามไม้ค้ำยันออก
4.
ขอให้หนูโชคดีในการรักษาต้นไม้เอาไว้ หากโชคร้ายเขาต้องตายจากไป กรุณาปลูกขึ้นมาใหม่ เพราะต้นไม้หนึ่งต้น ขนาดต้นมะม่วงบ้านเรา จะถ่ายเทความร้อนได้เท่ากับเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน แถมยังมีร่มเงาให้เราอีก ผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้เราใช้ กรองเสียงและกรองฝุ่นออกจากตัวบ้านเรา เราจะได้ใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง ประเทศเราจะได้ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าสร้างเขื่อน และน้ำก็จะท่วมประเทศไทยน้อยลง เราก็จะลำบากน้อยลง
5. ปาเก้บ้านดิฉัน กลายเป็นปลาลอยน้ำ น่าปาทิ้งมั๊ยคะ?

ก่อนอื่นต้องขอภาวนาว่าพื้นปาเก้ที่บ้านคุณนั้น เป็นปาเก้พื้นชั้นล่างไม่ใช่ปาเก้พื้นชั้นบน แต่ที่ว่าน่าจะปาทิ้งหรือไม่นั้น ผมขออนุญาตเล่าและอธิบายดังนี้
1.
ปาเก้เป็นไม้ซึ่งอยู่ได้ด้วยกาว ดังนั้นพื้นปาเก้จึงเป็นพื้นที่อ่อนแอกับอาการน้ำท่วมอย่างยิ่ง เพราะทั้งไม้ ก็จะบวมขึ้นมากาวก็จะหลุดล่อน ดังนั้นเมื่อน้ำท่วมพื้นปาเก้ก็ต้องมีปัญหาแน่นอน อย่าไปโทษช่างทำปาเก้หรืออย่าไปคิดอะไรมาก
2.
หากน้ำท่วมสัก 5-7 วัน นอกจากปาเก้จะหลุดล่อนลอยน้ำ ปูดโปนขึ้นมาแล้ว ยังจะมีอาการ "บูดเน่า" ให้เกิดกลิ่นเหม็น และอาจเป็นอันตรายน้อยๆ หากต้องสูดดมอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
3.
หากปาเก้เปียกน้ำสักเล็กน้อย ไม่ถึงกับหลุดล่อนปูดโปนไม่ต้องทำอะไรมาก เช็ดทำความสะอาด แล้วปล่อยทิ้งไว้ เปิดหน้าต่าง-ประตู ให้อากาศถ่ายเทความชื้นออกไป ไม่กี่วันปาเก้ก็อาจเข้ารูปเดิมปกติได้ แต่มีข้อที่น่าคิดก็คือ อย่าเอาน้ำมันหรือแลคเกอร์หรือแว็กซ์ ไปทาทับตอนที่ปาเก้ยังชื้นอยู่ เพราะสารเหล่านั้น จะไปเคลือบผิวไม้ทำให้ความชื้นในเนื้อไม้ (และเนื้อพื้นคอนกรีตใต้ปาเก้) ไม่ระเหยออกมา
4.
หากปาเก้มีอาการหนัก บิดงอ ปูดโปน เบี้ยวบูด ผุกร่อน เหม็นเน่า…กรุณาอย่าเสียดาย กรุณาเลาะออกมา หากเลาะออกมาแล้วยังอยู่ในสภาพดี ก็ผึ่งลมเอาไว้ให้แห้งเผื่ออาจมีประโยชน์ในวันหลัง
5.
หากเลาะพื้นปาเก้ออกมีข้อคิดว่า หากจะปูอะไรทับแทนก็ต้องระวังเรื่องน้ำหนักของวัสดุที่จะปูแทนนั้น ว่าหนักมากไหม หากหนักมากก็ต้องดูระบบโครงสร้างบ้านเราด้วยว่ามีความแข็งแรงไหม (ถามช่างผู้รู้ให้ช่วยดูก็ได้) เพราะปาเก้นั้นเป็นไม้น้ำหนักเบา พื้นที่หนึ่งตารางเมตรอาจจะหนักเพียง 5 กิโลกรัม แต่พื้นหินอ่อนหรือแกรนิต น้ำหนักรวมปูนทรายที่ใช้ปูหนึ่งตารางเมตรอาจหนักถึง 120 กิโลกรัม
6.
หากจะปูปาเก้เช่นเดิม (เพราะชอบความเป็นไม้ที่ให้ความนุ่มนวล) หรือปูวัสดุอื่นที่ใช้ "กาว" เป็นตัว ประสาน กรุณาอย่าปูทับลงทันที ต้องรอให้พื้นคอนกรีตแห้งก่อน (อาจใช้เวลาเป็นเดือน) แล้วจึงปูลงไปได้ ไม่เช่นนั้น รับรองว่าปูเท่าไรลงไปก็ล่อนออกมาเท่านั้น
อ่านต่อ ตอนที่ 2 >>>
สามารถดาวน์โหลดบัญญัติ 22 ประการ "บ้านหลังน้ำท่วม" ในรูปแบบ PDF ได้ ที่นี่



รับสร้างบ้าน แบบบ้านสองชั้น
โทร 0-2542-2955-6, 0-2542-2691-2, 0-2542-2244
E-mail. info@sahasutha.com
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน   บ.อะไลฟ์เฮ้าส์ จำกัด  STBUILDER
Copyright ? 2004 SAHASUTHA CO.,LTD. All right reserved.
WEB SITE by  www.eTradeForce.com

บริษัท สหสุธา เรารับสร้างบ้านใส่ใจทุกรายละเอียด

รับสร้างบ้าน | แบบบ้านสองชั้น